อาหารเพิ่มพลังความจำแบบอัจฉริยะให้กับสมอง

อัพเดท : 07/04/2021 10:04:11, อ่าน : 1,224 , โพสโดย : M Food, หมวดหมู่ สุขภาพ

พัฒนาสมองอย่างไรให้ได้ผล

บทความนี้เราดูกันว่ามีอาหารอะไรบ้างที่ช่วยเพิ่มพลังความจำให้กับสมองของเรา

 

แซลมอน

 

ความจริงแล้วสมองของเรานั้นก็ต้องการสารอาหารเพื่อเป็นพลังานสำหรับใช้ในการทำงานเหมือนกัน สมองของคนเราก็ไม่ต่างอะไรกับอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย

การที่สมองจะจดจำได้ดีนั้น ก็ขึ้นอยู่กับอาหารที่กินเข้าไปด้วย มีผลงานวิจัยออกมาว่าอาหารที่กินเข้าไปแล้วสามารถช่วยกระตุ้นความจำ และชะลอการเสื่อมของสมองได้จริง มีดังนี้ บัวบก ขิง หอมหัวใหญ่ กระชายดำ หม่อน พริก เป็นต้น ซึ่งสารอาหารต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) อย่างน้อยก็ 3 ชนิดด้วยกัน ที่จะทำให้การส่งข้อมูลของสมองเป็นไปอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

 

เรามาดูกันว่าสารสื่อประสาททั้ง 3 ชนิดที่ว่ามานี้มีอะไรกันบ้าง ... ไปกันเลย !

 

1. อะชิทิลโคลีน (Acetylcholine)

ทำหน้าที่ในการกระตุ้นเซลล์ประสาทควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และมีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความจำด้วย โดยพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ (Alzheimers disease) จะมีอะซิทิลโคลีนในสมองน้อยควาคนปกติ อะชิทิลโคลีนมีมากในอาหารจำพวกไข่แดง ถั่ว ข้าวไม่ขัดสี ตับ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ปลา นม เนยแข็ง และผัก โดยเฉพาะกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อคโคลี เป็นต้น

 

2. โดปามีน (Dopamine)

เกี่ยวข้องกับสมาธิ ความสนใจ และการเรียนรู้ ในขณะเดียวกันก็มีผลต่อความรู้สึกตื่นตัว โดยจะเห็นได้จากผู้ที่เป็นโรคจิตเภท (Schizophrenia) จะมีโดปามีนในสมองมากกว่าคนปกติ โดปามีนมีมากในอาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนทุกชนิด เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ผลิตภันฑ์จากนม ปลา ถั่วต่าง ๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง

การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนประมาณ 60-80 กรัม จะช่วยให้รู้สึกตื่นตัว มีสมาธิ และมีพลังมากขึ้น

 

3. ซีโรโตนิน (Serotonin)

ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก และควบคุมวงจรการนอนหลับ โดยซีโรโตนินจะทำงานเฉพาะในบริเวณสมองส่วนกลาง (Brain Rewards System) เมื่อเกิดความรู้สึกพอใจ พบกว่าผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีระดับของซีโรโตนินในสมองบริเวณนี้น้อยกว่าปกติ 

สาอาหารคาร์โบไฮเดรตจำพวกแป้งและน้ำตาล เช่น ข้าว พาสต้า ผักประเภทหัว ธัญพืช และขนมปัง จะช่วยเพิ่มการดูดซึมทริปโตแฟน (Tryptophan) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นซีโรนินในสมอง หากรับประทานอาหารจำพวกนี้เข้าไปภายใน 30 นาที จะทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสงบได้นานหลายชั่วโมง

 

สารอาหารที่จำเป็นต่อสมอง

ถ้าสมองของเราเปรียบเสมือนโรงงานที่สร้างสารสื่อประสาทตลอดเวลา 24 ชั่วโมงแล้วล่ะก็ วัตถุดิบสำหรับสร้างสารสื่อประสาทก็คือ! กรดอะมิโน วิตามิน เกลือแร่ ฯลฯ ส่วนวัตถุดิบที่สมองต้องการเพื่อเป็นแหล่งพลังงานคือ น้ำตาล กลูโคส ซึ่งรวม ๆ แล้วก็คือ การทำงานของสมองต้องการอาหารที่มีสารอาหารควบทุกชนิด หากสารสื่อประสาทไม่สมดุล การทำงานของสมองจะมีปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่อาจเกิดจากเรื่องพันธุกรรม และการสะสมของสารอาหารในร่างกาย

ดังนั้น ประเภทของสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อสมองจึงประกอบไปด้วยวิตามินดังต่อไปนี้

 

วิตามินบี 1 หรือ ไธอะมิน (Thiamine)

เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อเซลล์สมอง มีหน้าที่สำคัญคือ เริ่งปฏิกิริยาในการเผาผลาญอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ทำให้เกิดพลังงานเพื่อให้เร่างกายสามารถทำงานได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญต่อระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านนำกระแสความรู้สึกของเส้นประสาท เนื่องจากร่างกายของเราไม่สามารถสังเคราะห์วิตามินบี 1 ได้ จึงจำเป็นต้องได้จากอาหารแหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 1 ได้แก่ เนื้อหมู ปลา ไก่ ตับ ไข่ ถั่วเมล็ด และเมล็ดข้าว (Whole grains) รวมถึงจำพวกผักและผลไม้ ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณของไธอะมินน้อย แต่ถ้าคิดจากที่กินในแต่ละวันแล้ว ร่างกายก็จะได้รับไธอะมินพอประมาณ

 

วิตามินบี 5 (Pantothemic acid)

เป็นอาหารที่จำเป็นในการสร้างโคเอนไซม์เอ (Coenzyme-A หรือ CoA) ที่ช่วยในการทำงานของสารสื่อประสาท และเป็นสารสำคัญในการสร้างโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต เป็นต้น

วิตามินบี 5 พบในอาหารแทบทุกชนิด แต่ที่มีความเข้มข้นมากที่สุดก็คือ ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ได้แก่ ตับ ไข่แดง ปลา ถั่ว และธัญพืช เป็นต้น

 

วิตามินบี 6 (Pyridoxine)

มีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ชนิด คือ ไพริดอกซีน (Pyridoxine) ไพริดอกซาล (Pyridoxal) และไพริดอกซามิน (Pyridoxamine) เป็นส่วนประกอบของโคเอนไซม์ที่สำคัญตัวหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เผาผลาญและใช้คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ที่สำคัญคือช่วยในการควบคุมความสมดุลของน้ำในร่างกาย ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท และสร้างสารเซโรโตนิน (Serotonin) ที่ช่วยทำให้อารมณ์และความจำดี

วิตามินบี 6 พบมากในเมล็ดพืช เมล็ดพืชชั้นในทั้งหลาย เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เมล็ดถั่วอัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน ข้าว ถั่ว และถั่วแมคคาดาเมีย เป็นต้น

 

วิตามินบี 12 (Cyanocobalamin)

เป็นสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างเม็ดเลือด ช่วยในการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และการดูดซึมของทางเดินอาหาร วิตามินบี 12 พบมากในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ นม เนย และไข่แดง เป็นต้น หากร่างกายขาดวิตามินบี 12 จะส่งผลกระทบถึงการทรงตัว ความทรงจำ การรับรู้ และเกิดความเสียหายต่อระบบประสาทอย่างถาวร ดังนั้น ร่างกายจำเป็นต้องเร่งสร้าง ไมอีลินซีท หรือ ปลอกประสาท ซึ่งช่วยให้การส่งสัญญาณของระบบประสาททำได้เร็วขึ้น

 

วิตามินบี 9 หรือ โฟลิคแอซิด (Folic Acid) 

โฟลิคแอซิดถูกจัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบีรวม เป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่มักจะขาดบ่อยมากในอาหารธรรมดา แต่ถ้ามีมากก็จะถูกเก็บไว้ใช้เมื่อจำเป็น ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์และซ่อมแซมสารพันธุกรรม หรือ DNA ให้คงรูปโครโมโซม ควบคุมการสร้างกรดอะมิโน (Amino acids) ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของโปรตีน จำเป็นต่อการแบ่งตัวของเซลล์และการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาระบบประสาท โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ หากได้รับสารอาหารดังกล่าวนอกจากจะช่วยพัฒนาระบบประสาทของทารกแล้วยังช่วยให้แม่มีสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย 

 

วิตามินซี (Ascorbic Acid)

เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ช่วยเพิ่มภูมิชีวิตได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถป้องกันและรักษาอาการอักเสบอันเนื่องมาจากแบคทีเรียและไวรัสได้ นอกจากนี้ยังช่วยในการดูดซึมของธาตุเหล็ก ดังนั้น การขาดวิตามินซีทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและเกิดอาการซึมเศร้าได้ เมื่อเราอยู่ในภาวะซึมเศร้าย่อมส่งผลโดยตรงต่อสมอง

 

แคลเซียมและแมกนีเซียม (Calcium & Magnesium)

แมกนีเซียมเป็นสารอาหารประเภทเกลือแร่ (Mineral) และเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ต่าง ๆ กล้ามเนื้อ สมอง และเนื้อเยื้อเกี่ยวพันต่าง ๆ หากร่างกายได้รับไม่เพียงพอจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากขึ้น 

แมกนีเซียมยังทำหน้าที่ในการส่งผ่านกระแสประสาท จึงช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวกับสมองได้ เช่น ซึมเศร้า ไมเกรน เครียด เป็นต้น และมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างคือเป็นตัวช่วยในการสะสมแคลเซียมเข้ากระดูก และลดความรุนแรงของโรคหัวใจวายเรื้อรัง ดังนั้น ทั้งแคลเซียมและแมกนีเซียมจึงมีความจำเป็นต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งจะได้ผลดีที่สุดต้องทำงานคู่กัน

 

เซเลเนียม (Selenium)

เป็นสารต้านอนุมูลอิสระหลัก 3 ตัว คือ เบต้าแคโรทีน วิตามินซี และวิตามินอี

ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้นและยังใช้เพื่อชะลอความเสื่อม สารต้านอนุมูลอิสระจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพถ้าขาดเซเลเนียม ซึ่งแหล่งอาหารที่ดีที่สุดของเซเลเนียม คือ อาหารทะเล ตับ ข้าว

 

กรดไขมั DHA หรือ น้ำมันปลา

เป็นกรดไขมันที่มีหน่วยเล็กที่สุด เป็นกรดไขมันตระกูลโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนานสมอง โดยเฉพาะด้านความจำ การเรียนรู้ และประสาทตา ดังนั้น กรดไขมัน DHA จึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างเซลล์สมองและแขนงประสาท โดยเฉพาะในวัยทารกและวัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต เมื่อผ่านเข้าไปในสมองและเสริมสร้างการเจริญเติบโตของปลายประสาทที่เรียกว่าเดนไดรต์ (Dandrite) ซึ่งจะทำหน้าที่ถ่ายทอดสัญญาณและส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลล์สมองด้วยกัน ทำให้เกิดความจำและการเรียนรู้

อาหารที่อุดมไปด้วย DHA คือ อาหารจำพวกปลา โดยเฉพาะปลาทะเล เช่น ปลาทูน่า ปลาโอลาย ปลาทู เป็นต้น

 

 

หากสมองของเราได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน สือประสาทเหล่านี้ก็จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการจดจำข้อมูลต่าง ๆ

ดังนั้น คนที่ได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ นอกจากจะทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโตแล้ว ยังทำให้ขาดสมาธิและมีระบบความจำที่ไม่ดี จำอะไรไม่ค่อยได้ ขี้หลงขี้ลืม

ดังนั้น ควรหันมาทานอาหารที่ช่วยบำรุงสมองและเสริมสร้างความจำกันดีกว่า

 

ต่อไปเรามาดูซิว่าอาหารเสริมสร้างประสิทธิภาพของความจำนั้น มีอะไรกันบ้าง

 

ปลา

จริงอย่างคำกล่าวที่ว่า "กินปลาแล้วจะฉลาด" ที่ใคร ๆ ก็รู้กันดี ซึ่งในวงการแพทย์ปัจจุบันต่างก็ยอมรับกันว่า การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวหรือโอเมก้า 3 และมี DHA โดยเฉพาะในน้ำมันปลาและเนื้อปลาทะเล ไม่ว่าจะเป็น

 

 

ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู หรือปลาอื่น ๆ ก็มีส่วนสำคัญมากสำหรับบำรุงสมอง และบำรุงความจำ ทำให้เส้นเลือดไม่อุดตันอีกด้วย

 

เนื้อสัตว์

เป็นแหล่งของโปรตีนที่เป็นโครงสร้างของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งสมอง นอกจากนี้ยังใช้ในการสร้างสารสื่อประสาทที่ช่วยในการทำงานของสมอง มีกรดอะมินโน 2 ชนิดในเนื้อสัตว์ที่มีผลต่อการสร้างสารสื่อประสาท คือ ทริปโตแฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็น เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเพื่อนำไปสร้างสารสื่อประสาทซีโรโตนิน และไทโรซีน (Tyrosine) ที่ร่างกายสามารถผลิตขึ้นมาเองได้ โดยจะนำไปใช้ในการสร้างสารสื่อประสาทโดปามีน

 

เมล็ดธัญพืช

อุดมไปด้วยไฟเบอร์ และถือเป็นอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งจากการวิจัยของศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่า อาหารจำพวกนี้จะช่วยลดความเสี่ยงและความบกพร่องในกระบวนการคิด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ นั่นเอง!

นอกจากนี้ เมล็ดธัญพืชยังช่วยลดการอักเสบในเรื่องความเครียด ร่วมทั้งปัจจัยเสี่ยง่ของหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง ทั้งหมดนี้อาจมีผลต่อสมอง เช่น

เมล็ดทานตะวัน ถือเป็นแหล่งรวมที่ดีของวิตามินอี และถ้าหากนำเมล็ดทานตะวันคั่วมาโรยบนสลัดนั้น จะเป็นส่วนที่ช่วยในการบำรุงสมองของคุณได้ดีทีเดีย

ถั่วลิสง แม้จะทำให้มีความเสี่ยงในการอ้วนสูงก็ตาม แต่ .. เนื่องจากมีไขมันปริมาณที่มาก และไขมันในถั่วลิสงยังเป็นไขมันที่นำมาซึ่งการมีสุขภาพดี นอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยวิตามินอี ช่วยให้หัวใจและสมองแข็งแรงและทำงานได้อย่างถูกต้อง

แป๊ะก๊วย เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า อาการหลง ๆ ลืม ๆ จึงนิยมแนะนำให้ใช้เพื่อปรับปรุงระบบไหลเวียนโลหติในสมอง เพราะเมื่อสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ย่อมเสื่อมสมรรถภาพและฝ่อไปในที่สุด ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน

ดังนั้น หากกินแปะก๊วยเป็นประจำจะช่วยบำรุงสมองและยังสามารถป้องกันโรคสมองเสื่อมได้อีกด้วย

 

ผักและผลไม้

 

 

ผักและผลไม้มีกากใยมากกว่าขนมหวาน เพราะมีส่วนประกอบของน้ำตาลสูง เนื่องจากใยอาหารจะช่วยในการดูดซึมน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงเร็วเกินไป สำหรับอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบมากหลังจากรับประทานจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะหลังอินซูลินออกมามากเพื่อรักษาระดับน้ำตาล และอาจทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว จนมีผลกับการทำงานของสมองได้

 

 

ดังนั้น การรับประทานขนมหวานมากเกินไปจะทำให้ขาดสมาธิ ซึ่งส่งผลต่อการเรียน ความจำ และการทำงานของสมอง

ประเภทผักและผลไม้ที่ช่วยเพิ่มความจำมีดังต่อไปนี้

ผักโขม ช่วยลดอาการความจำเสื่อม โดยเฉพาะในผู้หญิง มีการวิจัยพบว่าหญิงวัยกลางคนที่รับประทานผักโขมร่วมกับผักใบเขียวชนิดอื่น ๆ เป็นประจำจะช่วยลดอาการความจำเสื่อมไปได้ถึง 2 ปี เนื่องจากในผักโขมมีเอนไซม์ที่ดีต่อความแข็งแกร่งของปลายเซลล์ประสาท และเสริมความแข็งแรงของตัวรับส่งข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาท ทั้งยังมีกรดโฟลิกสูงที่ดีต่อการจำ ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกาย นักประสาทวิทยาแนะนำให้กินผักโขมอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะผักโขมที่ปลูกแบบออร์แกนิก ไร้ซึ่งสารพิษตกค้าง

มะเขือยาวและมะเขือม่วง เป็นแหล่งใหญ่ของสารแอนโธไซยานิน (Anthocyanin) นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องไขมันในเยื่อหุ้มเซลล์สมอง

แครอท หากต้องการกระตุ้นให้สมองทำงานอย่างสดชื่นแบบเร่งด่วน ควรรับประทานผักผลไม้สด โดยเฉพาะแครอทสด โดยรับประทานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จะช่วยกระตุ้นให้มีความจำที่ดีได้

อะโวคาโด เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินอี ซึ่งจากการวิจัยพบว่า อาหารที่เต็มไปด้วยวิตามินอี ซึ่งรวมไปถึงอะโวคาโด จะสามารถช่วยต้านอนุมูลอิสระได้และลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ด้วย

 

แอปเปิ้ล

 

แอปเปิ้ล ในแอบเปิ้ลมี Quercetin สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม แม้ว่าส่วนใหญ่ Quercetin จะพบมากในผิวของแอปเปิ้ลโดยไม่ปลอกเปลือกจะทำให้เราได้รับสารดังกล่าวในปริมาณมาก นอกจากนี้ในแอปเปิ้ลแดงยังพบว่ามีสารแอนโธไซยานิน (Antho cyanin) ในผิวอีกด้วย

ดังนั้น หากเราดื่มน้ำแอปเปิ้ลวันละประมาณ 2 แก้ว หรือกินแอปเปิ้ลวันละ 2-3 ลูก เป็นประจำ จะช่วยเพิ่มการสร้างสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่า "อะเซทิลโคลีน" ซึ่งเป็นตัวกำหนดความสามารถในการเรียนรู้และการจำ อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพความจำของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งจะช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อมได้

ผลไม้รสเปรี้ยวตระกูลเบอรี่ ได้แก่ บลูเบอรี่ สตรอว์เบอรี่ และเชอรี่ ซึ่งพบว่าในผลไม้ตระกูลเบอรี่นี้มีวิตามินซี และสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งจะช่วยเสริมสุขภาพของสมอง ทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองทำงานได้ดี ช่วยลดความดันโลหิตที่สูงให้สมดุล และช่วยเพิ่มความสามารถในการคิดและระดับไอคิวได้ด้วย ทั้งยังป้องกันการสูยเสียความจำระยะสั้น และช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัสที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อความทรงจำ โดยเฉพาะบลูเบอรี่สด ซึ่งดีต่อความจำระยะยาวมากทีุ่สด เหมาะแก่การรับประทานเป็นอาหารว่าง เพราะนอกจากจะไม่ทำให้อ้วนแล้ว ยังได้วิตามินซีเพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

งาและขนมหวาน

ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายและอารมณ์ดี เหมาะสำหรับเป็นอาหารในมื้อเย็นที่ร่างกายต้องการพักผ่อนนอนหลับอย่างสุขสงบ เช่น

ช็อกโกแลต มีสาารต้านอนุมูลอิสระช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้ระบบหมุนเวียนเลือด และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้ดี ที่สำคัญช่วยพัฒนาความจำได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังผลิตสารเอ็นโดรฟินและเซโทโรนิน ที่เป็นสารแห่งความสุขในสมองอีกด้วย ซึ่งสารนี้จะทำให้อารมณ์ดี สมองสดชื่น และช่วยให้ผ่อนคลายสมองได้ในเวลาเครียด ๆ

 

แป้งและน้ำตาล

เมื่อถูกย่อยจะเปลี่ยนเป็นกลูโคสที่เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของสมอง จึงควรพยายามรักษาระดับน้ำตาลในร่างกายให้คงที่ เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงมากเกินไปจะมีผลต่อการทำงานของสมอง ทำให้ระดับของสารสื่อประสาทไม่สมดุล ซึ่งจะทำให้เกิดอาการมึนหัวง่าย วิงเวียนบ่อย ง่วงนอน สับสน และอาจถึงกับเป็นลมชักหมดสติได้ แหล่งของแป้งและน้ำตาลควรมาจากข้าว และธัญพืชชนิดต่าง ๆ

 

ข้าว

 

ไข่

เป็นที่รู้จักกันดีว่า ไข่ ช่วยพัฒนาระบบการทำงานของสมอง โดยล่าสุดพบว่าสารโคลินในไข่ไก่จะทำหน้าที่สำคัญต่อการพัฒนาการทำงานของสมองและความจำ โดยมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ค้นพบว่า สมองของทารก ที่มารดารับประทานอาหารที่มีโคลินสูง จะมีพื้นที่การจดจำและความสามารถในการจำมากกว่าปกติ หากเรารับประทานไข่ไก่เข้าไป สามารถให้พลังงานนานนับหลายชั่วโมง ไม่ทำให้หิวบ่อย ๆ และไม่ต้องกลัวโคเลสเตอรอลสูงอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม อาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูง มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ และมีไทโรซีนสูง เช่น อาหารทะเล ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ไข่และนมนั้นจะช่วยให้สมองมีพลัง กระฉับกระเฉง ตื่นตัว จึงเหมาะสำหรับเป็นอาหารในช่วงเช้า

ส่วนมื้อกลางวันควรทานอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูง มีโปรตีนต่ำ และมีทริปโตแฟนสูง เช่น ข้าว ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ 

มื้อเย็นควรเป็นอาหารจำพวกผักผลไม้ที่มีทั้งวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ที่นอกจากจะช่วยให้ย่อยง่ายแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย

 

ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีองค์ประกอบของไขมันที่ผ่านกระบวนการแล้ว (Hydrogeneted) เนื่องจากไขมันดังกล่าวได้มีการปรับโครงสร้างมีลักษณะเป็นไขมันอิ่มตัว มีแนวโน้มที่จะเกาะและอุดตันเส้นเลือดได้ โดยหากเมื่อเข้าสู่สมองจะไปอุดตันเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง จะทำให้สมองบริเวณนั้นตาย ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงาน และการส่งกระแสประสาทของเซลล์สมอง ทำให้ระบบความจำบกพร่อง นำไปสู่การเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

 

ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน โรคสมองเสื่อมจะยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่เราสามารถป้องกันหรือชะลอสภาวะการทำงานของสมองไม่ให้เสื่อมลงไปกว่าเดิมได้ โดยวิธีการง่าย ๆ คือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง

 

มีงานวิจัยมากมายพบว่า โรคสมองเสื่อมสามารถป้องกันได้ด้วยอาหารหลายชนิด เช่น ผักและผลไม้ที่มีวิตามินอี วิตามินซี ซึ่งมีอยู่มากมายในผักและผลไม้จำพวก มะเขือเทศ แครอท และผักโขม

ด้วยคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในผักและผลไม้เหล่านี้ ทำให้ช่วยป้องกันเซลล์สมองจากการถูกทำลายด้วยสารอนุมูลอิสระ (Free radicals)

นอกจากนี้แล้ว DHA ที่มีในไขมันจากปลาทะเลยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับโครงสร้างของเซลล์สมองได้

 


ป้ายกำกับ : สมอง พัฒนาสมอง ความจำ อาหารสมอง วิตามินบี
หมวดหมู่ ขั้นตอนการใช้งาน ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ ท่องเที่ยว บ้านและสวน มาตรฐาน ร้านอาหาร รีวิวร้านอาหาร วัตถุดิบประกอบอาหาร สุขภาพ อาหาร เกษตร เครื่องดื่ม โปรแกรมร้านอาหาร โปรโมชั่น ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ทั้งหมด
วันที่สร้าง : 07/04/2021 10:04:11
โพสโดย : M Food
สร้างสรรค์บทความดี ๆ ด้วยตัวคุณเอง คลิกที่นี่ เพื่อเขียนบทความใหม่ ๆ ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน
อ่านวิธีลงบทความของคุณได้คลิกที่นี่

บทความสุขภาพที่คุณอาจสนใจ

ข่าวสารอาหาร

อ่านบทความทั้งหมด

ร้านอาหารที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด

© 2024 M Food Service. โปรแกรมร้านอาหาร สำหรับบริการอาหารและเครื่องดื่ม | Developed by m2010thai.com